Teleki de Szék, Count Pál (1879–1941)

เคานต์ปาล เตเลกิ เด เซค (พ.ศ. ๒๔๒๒–๒๔๘๓)

 เคานต์ปาล เตเลกิ เด เซค เป็นนายกรัฐมนตรีฮังการี ๒ สมัยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๑ และ ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๑ และศาสตราจารย์สาขาภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*เตเลกิเป็นผู้แทนคนหนึ่งของฮังการีที่ได้เข้าร่วมในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ค.ศ. ๑๙๑๙ และมีบทบาทสำคัญในการชี้แจงให้ผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรรับทราบเรื่องเส้นเขตแดนเดิมของฮังการีก่อนที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขของสนธิสัญญาสันติภาพกับฮังการี เมื่อฮังการีถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาตรียานง (Treaty of Trianon)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสูญเสียดินแดนที่ครอบครองร้อยละ ๗๒ ให้แก่เชโกสโลวะเกีย โรมาเนียและยูโกสลาเวีย รวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๖๔ เพื่อแลกกับการมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แม้เตเลกิจะต่อต้านสนธิสัญญาตรียานง แต่ก็ยอมรับว่าฮังการีจำเป็นต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมในขณะนั้นในเวลาเดียวกัน เตเลกิเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสนธิสัญญาตรียานงโดยใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญทางวิชาการ สร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและดินแดนของฮังการีเดิมที่เรียกว่า “ฮังการีใหญ่” (Greater Hungary) เมื่อเตเลกิได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เขาดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ก็เอนเอียงเข้าข้างเยอรมนีโดยคาดหวังว่าเยอรมนีจะช่วยให้ฮังการีได้ดินแดนที่สูญเสียไปตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาตรียานงกลับคืน

 เตเลกิเกิดที่กรุงบูดาเปสต์ในครอบครัวนักการเมืองที่มีฐานะ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๙ เกซา เตเลกิ (Géza Teleki) บิดาเป็นนักการเมืองชาตินิยมส่วนอีเรน มูราตี (Irén Muráty) มารดาเป็นบุตรสาวของนักธุรกิจชาวกรีกที่มั่งคั่งและเป็นสตรีผู้มีความงดงามที่รู้จักกันดีในแวดวงสังคมชั้นสูง ครอบครัวสนับสนุนเขาให้เข้าสู่วงการเมือง แต่ในระยะแรกเตเลกิไม่แสดงท่าทีสนใจเพราะหมกมุ่นกับการเรียนและการเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หลังเตเลกิสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และเข้าศึกษาต่อระดับสูงที่ราชวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งฮังการี (Royal Hungarian Academy of Economy) โดยได้รับปริญญาเอกใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เขาเริ่มหันมาสนใจเรื่องการเมืองควบคู่กับงานวิชาการ เขาทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาภูมิศาสตร์และวิชาเศรษฐศาสตร์สังคมในมหาวิทยาลัย เตเลกิมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการภายในเวลาอันรวดเร็ว ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เขาพิมพ์เผยแพร่งานวิชาการเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในฮังการีและมีแผนที่ที่แสดงถึงการแพร่กระจายของการตั้งถิ่นฐานของชนชาติต่าง ๆ ในฮังการี รวมถึงความหนาแน่นของประชากรชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในฮังการีและอื่น ๆ งานวิชาการเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ และแผนที่ที่เขาทำขึ้นในเวลาต่อมาซึ่งเรียกกันว่า “เรดแม็ป” (Red Map) เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการประชุมจัดทำสนธิสัญญาตรียานงเพื่อกำหนดเขตแดนของฮังการี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๓ เตเลกิเป็นผู้อำนวยการสิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับสถาบันภูมิศาสตร์ (Scientific Publishing for Institutes of Geography) และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐–๑๙๒๓ ยังทำงานเป็นเลขาธิการสมาคมภูมิศาสตร์ (Geographical Society)

 เมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์อาร์ช ดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนีย ออสเตรียใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการปราบปรามการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟในเซอร์เบียที่สนับสนุนขบวนการชาตินิยมสลาฟในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เตเลกิอาสาสมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบในกองทัพออสเตรียและไปปฏิบัติการรบในแถบปรัสเซียตะวันออก อย่างไรก็ตาม ออสเตรีย-ฮังการีซึ่งเป็นฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* พ่ายแพ้ในสงครามและต้องลงนามทำสัญญาสงบศึก (Armistice)* กับประเทศสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในวันเดียวกันจักรพรรดิชาลส์ (Charles ค.ศ. ๑๙๑๖–๑๙๑๘)*ซึ่งเสด็จสืบราชสมบัติต่อจากจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)* ที่สวรรคตด้วยโรคชราก็ทรงสละพระราชอำนาจในออสเตรียและอีก ๒ วันต่อมาในฮังการี นับเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy)* ในฮังการี ฮังการีเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐและเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการี (Hungary Democratic Republic) โดยมีเคานต์ มีไฮลี คารอลยี (Mihály Karolyi)* เป็นประธานาธิบดีคนแรก

 ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่นั้น เตเลกิซึ่งปลดประจำการได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้พิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนใหม่ระหว่างฮังการีกับโรมาเนียที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเสนอ ทั้งตั้งเงื่อนไขว่าหากฮังการีไม่ยอมตกลง ฝ่ายสัมพันธมิตรจะสนับสนุนให้กองทัพโรมาเนียเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเส้นพรมแดนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ เตเลกิเห็นว่าเส้นเขตแดนใหม่ทำให้ฮังการีเป็นฝ่ายเสียเปรียบรัฐบาลฮังการีจึงปฏิเสธที่จะยอมรับ ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีที่มีเบลา คุน (Béla Kun)* เป็นผู้นำเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจนประธานาธิบดีคารอลยีควบคุมสถานการณ์ไม่ได้และประกาศลาออก พรรคฝ่ายค้านจึงรวมตัวกับพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเป็นพรรคสหภาพแรงงานฮังการี (United Workers Party of Hungary) จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ขึ้นบริหารประเทศตามแนวทางสังคมนิยมและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* ในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว เตเลกิกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์และเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

 อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีก็ขาดเสถียรภาพทางการเมืองเพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดเรื่องการปฏิรูปที่ดินและล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งการใช้นโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* ตามแบบสหภาพโซเวียตด้วยการบังคับเกณฑ์ผลผลิตส่วนเกินทางเกษตรเป็นของรัฐก็ได้รับการต่อต้านจากชาวนาและเกษตรกรอย่างมาก กลุ่มการเมืองชาตินิยมจึงสนับสนุนให้พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด นอจบานยา (Nikólaus Miklós Horthy de Nagybánya)* ก่อการปฏิวัติล้มล้างอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ รัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และเปิดการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพ เตเลกิได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนคนหนึ่งของฮังการีเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส ใน ค.ศ. ๑๙๑๙

 แม้เตเลกิพยายามต่อต้านการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ทำให้ฮังการีต้องสูญเสียดินแดนไป ๒ ใน ๓ ของดินแดนเดิมก่อนสงคราม คือส่วนที่เป็นรูทีเนีย (Ruthenia) สโลวาเกีย (Slovakia) โครเอเชีย (Croatia) สโลวีเนีย (Slovenia) และทรานซิลเวเนีย (Transylvania) แต่การคัดค้านของเขาก็ไร้ผล ฮังการีถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาตรียานงเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีดินแดนเหลือเพียง ๙๓,๐๗๓ ตารางกิโลเมตรและไม่มีดินแดนที่สามารถออกสู่ทะเลได้โดยตรง ทั้งให้มีทหารประจำการได้ไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ นายและกองทัพเรือถูกยุบ ตลอดจนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่โรมาเนีย เชโกสโลวะเกีย และราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนเนีย (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes ซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย) เตเลกิซึ่งต่อต้านสนธิสัญญาตรียานงจึงเริ่มรณรงค์ทางความคิดเพื่อให้แก้ไขสนธิสัญญาและใช้ความรู้ทางวิชาการชี้แนะประชาชนให้เข้าใจเรื่องเส้นพรมแดนที่ชอบธรรมของฮังการี บทบาทดังกล่าวทำให้เขาเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปมากขึ้น ฮอร์ที เด นอจบานยาซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ จึงแต่งตั้งเตเลกิเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือนกรกฎาคม และในปีต่อมาก็แต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

 ในการบริหารปกครองประเทศ เตเลกิพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและปฏิรูปที่ดินตลอดจนดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับออสเตรีย อิตาลี และเชโกสโลวะเกีย เขารณรงค์เรื่องการกอบกู้ดินแดนของประเทศที่สูญเสียไปตามสนธิสัญญาตรียานง และสนับสนุนให้ชาวฮังการีหรือแมกยาร์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่สูญเสียไปในโรมาเนีย เชโกสโลวะเกีย และยูโกสลาเวียร่วมกันผลักดันการแก้ไขสนธิสัญญาตรียานง เตเลกิจัดตั้งสถาบันภูมิสังคมแห่งฮังการี (Hungarian Institute of Sociography) ขึ้นเพื่อเป็น “คลังข้อมูล” เกี่ยวกับดินแดนต่างๆที่ฮังการีสูญเสียไปในเวลาต่อมาสถาบันนี้ยังผลักดันการจัดตั้งสถาบันรัฐศาสตร์ (Institute of Political Science) ขึ้นเพื่อเตรียมการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำดานูบ เตเลกิซึ่งปฏิรูประบบการปกครองและปรับปรุงด้านเงื่อนไขทางสังคมต่าง ๆให้ดีขึ้นทั่วไปเชื่อมั่นว่าการเตรียมฮังการีให้มีความพร้อมที่จะแก้ไขสนธิสัญญาตรียานงจะมีส่วนทำให้ประเทศมหาอำนาจยุโรปไม่ช้าก็เร็วตระหนักถึงความผิดพลาดของตนเรื่องสนธิสัญญาตรียานง ในท้ายที่สุดประเทศมหาอำนาจอาจหาทางแก้ไขด้วยการกดดันกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente)* ให้ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดินแดนของฮังการีและยอมคืนดินแดนเดิมของฮังการีซึ่งรวมทั้งคืนดินแดนที่มีชาวแมกยาร์อาศัยอยู่ในโรมาเนีย เชโกสโลวะเกียและยูโกสลาเวียด้วย อย่างไรก็ตาม ในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ทั่วโลกที่สืบเนื่องจากความหายนะของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่เป็นลูกหนี้ของสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของฮังการีที่ขึ้นกับเงินกู้ต่างประเทศจึงกระทบกระเทือนมาก เตเลกิซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จึงลาออกและกลับไปทำงานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์อีกครั้งหนึ่ง

 ในช่วงที่เตเลกิบริหารประเทศ จักรพรรดิชาลส์อดีตประมุขแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีทรงพยายามฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ในฮังการีด้วยการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฮังการีเพราะหลังการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๒๐ รัฐสภาฮังการีลงมติให้ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์แต่ให้เลื่อนเวลาการเลือกกษัตริย์ออกไปจนกว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงบและมีเสถียรภาพ ทั้งให้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเพื่อบริหารประเทศแทนก่อน จักรพรรดิชาลส์ทรงเดินทางเข้าฮังการีถึง ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๑ แต่ถูกประเทศสัมพันธมิตรจับได้และลงโทษพระองค์ด้วยการเนรเทศไปประทับที่เกาะมาเดรา (Madeira) ทางฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา พระองค์เสด็จสวรรคตในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ อาร์ชดุ๊กออทโท (Otto) พระราชโอรสก็ต้องยอมรับว่าราชวงศ์ฮับส์บูร์กอาจไม่มีโอกาสได้บัลลังก์ฮังการีคืน จึงไม่ทรงอ้างสิทธิในบัลลังก์ฮังการีอีกและเปิดทางให้ฮอร์ที เด นอจบานยาได้เป็นผู้สำเร็จราชการจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๔ ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ รัฐสภาฮังการีลงมติให้เพิ่มอำนาจการปกครองแก่ฮอร์ทีซึ่งทำให้เขาปกครองฮังการีในลักษณะผู้เผด็จการและแทบไม่ต้องขึ้นต่อรัฐสภา

 นโยบายสำคัญประการหนึ่งของฮอร์ทีคือ การแก้ไขสนธิสัญญาตรียานง ฮอร์ทีจึงเชิญเตเลกิให้เข้าร่วมคณะรัฐบาลโดยแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ในปีเดียวกันนั้นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีก็กดดันเชโกสโลวะเกียให้ยกดินแดนซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ส่วนที่มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่จำนวนมากแก่เยอรมนี เตเลกิซึ่งเห็นว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบในการดำเนินนโยบายทางการทูตเนื่องจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกต้องการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่สงครามได้จึงแสดงท่าทีให้เห็นว่าฮังการีสนับสนุนข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของเยอรมนี เขาคาดหวังว่าเยอรมนีจะมีส่วนช่วยกดดันประเทศมหาอำนาจตะวันตกให้ยอมรับความต้องการของฮังการีในการแก้ไขสนธิสัญญาตรียานง อย่างไรก็ตาม เตเลกิก็ปฏิเสธที่จะร่วมมือทางทหารกับเยอรมนีและต้องการให้ฮังการีดำเนินนโยบายเป็นกลางในกรณีที่เกิดสงครามขึ้น ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ เบลา อิมเรดี (Béla Imrédy) นายกรัฐมนตรีฮังการีซึ่งสนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และต่อต้านยิวถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีการสืบพบว่าเขามีเชื้อสายยิวเตเลกิจึงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทนเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ เขาดำเนินนโยบายต่อต้านกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนฟาสซิสต์และขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายบังคับให้ชายชาวยิวที่อายุอยู่ในเกณฑ์เป็นทหารต้องเป็นแรงงานเกณฑ์

 เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองเชโกสโลวะเกียในกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งเป็นการละเมิดความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* อังกฤษและฝรั่งเศสจึงยกเลิกนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* และหันมาต่อต้านเยอรมนี โยฮาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีซึ่งต่อต้านอังกฤษจึงหันไปสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและกระชับความสัมพันธ์กับอิตาลีให้แนบแน่นมากขึ้นต่อมาในเดือนสิงหาคม เยอรมนีได้เจรจาลับกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการแบ่งโปแลนด์และนำไปสู่การลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* ระหว่าง ๒ ประเทศ ที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ กติกาสัญญาฉบับนี้มีเนื้อหาข้อตกลงที่จะไม่รุกรานกันเป็นเวลา ๑๐ ปี มีพิธีสารลับพ่วงท้ายซึ่งแบ่งเขตอิทธิพลในยุโรประหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตทั้งเปิดทางให้สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองรัฐบอลติก (Baltic States)* ทั้งสามซึ่งประกอบด้วยเอสโตเนียลัตเวียและลิทัวเนียรวมทั้งเบสซาราเบีย (Bessarabia)* ในโรมาเนียด้วย เตเลกิตระหนักว่าเยอรมนีต้องก่อสงครามในไม่ช้า และเขาคาดการณ์ถูกต้องเพราะเพียง ๑ สัปดาห์หลังการลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียตเยอรมนีก็บุกโจมตีโปแลนด์โดยใช้ยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* และเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*

 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ เยอรมนีขอใช้เส้นทางรถไฟของฮังการีที่ผ่านเมืองคอสซา (Kassa) เพื่อให้กองทัพเยอรมนีสามารถบุกโปแลนด์ทางตอนใต้ได้เตเลกิปฏิเสธเพราะฮังการีมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับโปแลนด์และประกาศว่าฮังการีมีสถานภาพเป็นประเทศ “ไม่เป็นคู่สงคราม” (non-belligerent) ฮอร์ทีผู้สำเร็จราชการยังกล่าวว่าเขาเต็มใจที่จะทำลายเส้นทางรถไฟมากกว่าจะเข้าร่วมกับเยอรมนีในการโจมตีโปแลนด์ การปฏิเสธที่จะร่วมมือกับเยอรมนีดังกล่าวทำให้ช่วงระหว่างฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๓๙ ถึงฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๐ มีทหารโปลกว่า ๑๐,๐๐๐ นายและชาวโปลกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยิวหนีออกจากโปแลนด์ข้ามพรมแดนมาฮังการี เตเลกิ อนุญาตให้ชาวโปลลี้ภัยเหล่านี้จัดตั้งสภากาชาดโปแลนด์และวัดคาทอลิกโปลขึ้นเพื่อบริหารจัดการชาวโปลอพยพ ทหารโปลส่วนใหญ่พักพิงอยู่ที่ฮังการีเป็นการชั่วคราว และในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๐ ก็เดินทางไปอยู่ที่ฝรั่งเศส

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเบสซาราเบีย เยอรมนีขอเดินทัพผ่านฮังการีเข้าไปโรมาเนียตอนใต้เพื่อยึดครองบ่อน้ำมันของโรมาเนียและสัญญาจะยกทรานซิลเวเนียให้ฮังการีเป็นการตอบแทน เตเลกิปฏิเสธโดยอ้างความเป็นกลางของประเทศ ขณะเดียวกัน เขาส่งผู้แทนไปเจรจากับ เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีเพื่อขอความสนับสนุนแต่มุสโสลีนีปฏิเสธและเน้นความเป็นพันธมิตรระหว่างอิตาลีกับเยอรมนี ในท้ายที่สุดเตเลกิต้องให้กองทัพเยอรมันข้ามพรมแดนเข้าไปทางโรมาเนียตอนใต้ต่อมา ในวันที่๒๐พฤศจิกายนรัฐบาลฮังการีถูกบีบให้ลงนามเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact)* หรือกติกาสัญญาสามมหาอำนาจ (Three Powers Pact) ซึ่งประกอบด้วย เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

 ความล้มเหลวของเยอรมนีในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain ค.ศ. ๑๙๔๐)* ทำให้เยอรมนีซึ่งต้องการกอบกู้ชื่อเสียงตัดสินใจเปิดแนวรบด้านตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เพื่อโจมตีสหภาพโซเวียต ก่อนการบุกสหภาพโซเวียตเยอรมนีได้เคลื่อนกำลังบุกโจมตีคาบสมุทรบอลข่านและยูโกสลาเวียรวมทั้งกรีซ ในการบุกยูโกสลาเวียเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ นั้น เยอรมนีขอให้ฮังการีเข้าร่วมและสัญญาจะคืนดินแดนที่ฮังการีสูญเสียให้ยูโกสลาเวียตามสนธิสัญญาตรียานง เตเลกิปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะไม่เข้าร่วมกับเยอรมนี เพราะก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพอันถาวร (Treaty of Eternal Friendship) กับยูโกสลาเวียโดยทั้ง ๒ ประเทศ จะไม่รุกรานซึ่งกันและกันและไม่ช่วยเหลือร่วมมือกับประเทศใดๆที่เข้ารุกรานประเทศคู่สัญญา เตเลกิเห็นว่าหากกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกผนึกกำลังกันก็อาจต้านกำลังทัพเยอรมันได้ เตเลกิจึงร่างโครงสร้างของแนวทางการรวมตัวกันของประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในรูปสหพันธรัฐภูมิภาค (regional federation) ขึ้น แต่แนวความคิดของเขาไม่ได้รับการตอบสนองจากชาติใด ๆ

 เมื่อเยอรมนีเตรียมบุกยูโกสลาเวีย เยอรมนีเรียกร้องให้ฮังการีซึ่งเป็นสมาชิกของกติกาสัญญาไตรภาคีเข้าร่วมด้วย ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตฮังการีประจำกรุงเบอร์ลินก็ส่งบันทึกด่วนถึงฮอร์ทีเดนอจบานยา ผู้สำเร็จราชการโดยชี้แจงว่ายูโกสลาเวียซึ่งสนับสนุนอังกฤษจะถูกกองทัพเยอรมันบดขยี้หากฮังการีร่วมมือกับเยอรมนี ฮังการีจะได้ดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืน ฮังการีต้องร่วมมือกับเยอรมนีทันทีและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องตอบรับข้อเรียกร้องของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เตเลกิยังคงสงวนท่าทีและอ้างว่าจะเข้าร่วมกับเยอรมนีทันทีในกรณีที่ชาวฮังการีในยูโกสโลวาเวียตกอยู่ในอันตราย หรือเมื่อยูโกสลาเวียพ่ายแพ้ ต่อมาในวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เตเลกิได้รับโทรเลขจากรัฐมนตรีฮังการีที่อยู่ในกรุงลอนดอนว่ารอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษข่มขู่จะตัดความสัมพันธ์กับฮังการีหากฮังการียอมให้กองทัพเยอรมันเดินทัพผ่านฮังการีไปโจมตียูโกสลาเวีย และหากฮังการีโจมตียูโกสลาเวีย อังกฤษจะประกาศสงครามต่อฮังการี เตเลกิจึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเขาตระหนักดีว่าหากเขายังคงแข็งขืนต่อข้อเรียกร้องของเยอรมนีโดยไม่ยอมร่วมมือโจมตียูโกสลาเวีย เมื่อเยอรมนีมีชัยชนะต่อยูโกสลาเวียก็จะต้องหันมาโจมตีฮังการีหากเขายอมให้กองทัพเยอรมันเดินทัพผ่านฮังการีก็จะเป็นการทรยศต่อยูโกสลาเวียและฝ่ายพันธมิตรจะประกาศสงครามต่อฮังการี

 อย่างไรก็ดี ฮอร์ทีซึ่งต่อต้านเยอรมนีมาก่อนกลับเปลี่ยนใจโดยไม่ปรึกษาเตเลกิและยอมให้กองทัพเยอรมันเดินทัพผ่านฮังการีได้ ฝ่ายเสนาธิการทหารฮังการีก็ทำข้อตกลงลับกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีที่จะช่วยเหลือด้านการลำเลียงพลและยุทโธปกรณ์ผ่านฮังการี เตเลกิไม่พอใจอย่างมากทั้งเห็นว่าฝ่ายเสนาธิการทหารทรยศต่อเขา ประมาณเที่ยงคืนของวันที่ ๓ เมษายน เตเลกิได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่ากองทัพเยอรมันได้เริ่มเคลื่อนพลข้ามพรมแดนเข้ามาในฮังการี เตเลกิจึงตัดสินใจก่ออัตวินิบาตกรรมในคืนนั้นและมีผู้พบศพเขาในวันรุ่งขึ้นเตเลกิได้เขียนจดหมายลาตายถึงฮอร์ทีกล่าวตำหนิตนเองว่าด้วยความขี้ขลาด เขาได้ทำลายพันธสัญญามิตรภาพเพื่อสนับสนุนคนชั่วร้าย ทั้งยอมทำลายศักดิ์ศรีของประเทศชาติ จึงมีความผิดและไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป พร้อมกับจดหมายลาตาย เตเลกิยังเขียนจดหมายลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นหลักประกันว่า ในกรณีที่การเสียชีวิตของเขาไม่ส่งผล ใด ๆ ต่อทิศทางการเมือง การลงนามใด ๆ ที่เป็นการละเมิดข้อตกลงความเป็นมิตรภาพร่วมกันกับยูโกสลาเวีย เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

 เคานต์ปาล เตเลกิ เด เซค ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ขณะอายุได้ ๖๒ ปีวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า การก่ออัตวินิบาตกรรมของเตเลกิคือการเสียสละที่ปลดเปลื้องมลทินทั้งตัวเขาและชาวฮังการีจากความผิดที่เยอรมนีบุกโจมตียูโกสลาเวีย ดังนั้น ในการเจรจาสันติภาพ โต๊ะเจรจาสันติภาพจะต้องมีที่นั่งว่างเว้นไว้ ๑ ที่สำหรับเคานต์เตเลกิด้วยประชาชนฮังการีจำนวนไม่น้อยเห็นว่าเตเลกิคือผู้รักชาติที่เลือกความตายแทนการร่วมมือกับนาซี เมื่อเยอรมนีบุกโจมตียูโกสลาเวียด้วยปฏิบัติการลงโทษ (Operation Punishment)* เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และสามารถยึดครองได้ในเวลาอันรวดเร็วอังกฤษประกาศตัดความสัมพันธ์กับฮังการี แต่ไม่ได้ประกาศสงครามจนกระทั่งปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๖๓ ปีอสัญกรรมของเตเลกิ ติบอร์ รีเกอร์ (Tibor Rieger) ประติมากรที่มีชื่อเสียงชาวฮังการีได้ปั้นรูปหล่อสัมฤทธิ์เป็นรูปเตเลกินั่งเก้าอี้ไขว่ห้าง ก้มหน้าครุ่นคิด มือข้างขวาแตะใบหน้า มือซ้ายวางทับแผ่นแผนที่ ในชั้นต้นรัฐบาลฮังการีจะติดตั้งรูปหล่อดังกล่าวไว้บริเวณหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่กรุงบูดาเปสต์ แต่ศูนย์ วีเซนทัล (Wiesenthal Center) ซึ่งเป็นศูนย์ตามล่าอาชญากรนาซีหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อต้านยิวในสมัยนาซีเคลื่อนไหวคัดค้าน ศูนย์ดังกล่าวตั้งชื่อตามไซมอน วีเซนทัล (Simon Wiesenthal) ชาวออสเตรียเชื้อสายยิวที่มีชื่อเสียงในการตามล่าพวกนาซีมาลงโทษ ในท้ายที่สุด รัฐบาลฮังการีจึงนำรูปหล่อเตเลกิไปประดิษฐานไว้ที่สวนของโบสถ์คาทอลิกที่เมืองบาลาตอนโบกลาร์ (Balatonboglár) ที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งทะเลสาบบาลาตอน (Balaton) และเป็นเมืองที่ชาวโปลอพยพได้หนีภัยนาซีมาอาศัยอยู่ที่นี่ในระหว่างสงครามโลก นอกจากชาวฮังการีแล้ว ชาวโปลก็ยกย่องชื่นชมเตเลกิด้วยเพราะในช่วงระหว่างสงคราม เตเลกิได้เปิดพรมแดนให้ชาวโปลมาอาศัยซ่อนตัว หลังสงครามสิ้นสุดชาวโปลพลัดถิ่นที่กลับประเทศจึงตั้งชื่อถนนสายหนึ่งในกรุงวอร์ซอว่าถนนเตเลกิเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา.



คำตั้ง
Teleki de Szék, Count Pál
คำเทียบ
เคานต์ปาล เตเลกิ เด เซค
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาไตรภาคี
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- กติกาสัญญาสามมหาอำนาจ
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- ความตกลงมิวนิก
- ความตกลงอนุภาคี
- คุน, เบลา
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- เตเลกิ เด เซค, เคานต์ปาล
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- นาซี
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปฏิบัติการลงโทษ
- พรรคสหภาพแรงงานฮังการี
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มหาอำนาจกลาง
- มีไฮลี คารอลยี, เคานต์
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยูโกสลาเวีย
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- ระบอบราชาธิปไตยคู่
- รัฐบอลติก
- ลัทธิฟาสซิสต์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สนธิสัญญาตรียานง
- สนธิสัญญามิตรภาพ
- สนธิสัญญามิตรภาพอันถาวร
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อีเดน, รอเบิร์ต แอนโทนี
- อีเดน, แอนโทนี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1879–1941
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๒๒–๒๔๘๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-